ร้านของฝากเจ้ดา

images (1)

 

 

‘รัดเข็มขัด-ขยายเครือข่าย’ สูตรความสำเร็จขนมท้องถิ่น ‘เต้าส้อเจ๊ดา’ : โดย…เมธี เมืองแก้ว

          แม้ จ.ตรัง จะไม่ใช่พื้นที่ต้นตำรับ สำหรับการผลิต “เต้าส้อ” ขนมประจำท้องถิ่นของภาคใต้ แต่ระยะเวลาเพียง 10 ปี ที่ผ่านมา สินค้าชนิดนี้ที่มีแหล่งผลิตอยู่ในจังหวัด กลับได้รับการพัฒนาหรือขยายตัวอย่างรวดเร็ว  และถือเป็นอีกขนมพื้นเมืองที่กลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดไปโดยปริยาย นอกเหนือไปจาก “เค้ก” ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศก่อนหน้านี้แล้ว

 

การเปิดธุรกิจทำร้านขายขนมแบบเล็กๆ ในปี 2545 ของ ดรุณี ดำคง  เจ้าของ “ร้านเจ๊ดา” ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกอันดามัน ริมถนนเพชรเกษม สายตรัง-กระบี่ หมู่ 2 ต.เขากอบ อ.ห้วยยอด จ.ตรัง คือสิ่งที่ตอบโจทย์ในแง่ของการเรียนรู้ เมื่อคนในครอบครัวนำสูตร “เต้าส้อ” ที่พบว่าลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ มาทดลองทำ จนกระทั่งเชี่ยวชาญ ที่สำคัญคือการได้สูตรเฉพาะตัวจนส่งผลให้สินค้าที่ผลิตขึ้นมาได้รับการยอมรับจากผู้บริโภค และเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลานี้

ความโดดเด่นในตัวสินค้าของผู้ประกอบการรายนี้ก็คือ เดิม “เต้าส้อ” ทั่วไป จะมีแป้งห่อแค่เพียงชั้นเดียว แต่สำหรับสูตรของ “ร้านเจ๊ดา” จะมี 2 ชั้น คือ แป้งชั้นนอกและแป้งชั้นใน โดยมีส่วนประกอบหลักๆ คือ แป้งสาลี ไข่ไก่ น้ำตาล น้ำมัน และเกลือ ทำให้ขนมที่ผลิตออกมาเหนียวนุ่มน่ารับประทาน ทั้งยังมีไส้ หลายรสชาติให้เลือกกันอีกมากมายด้วย ทั้งไส้ถั่ว-ไข่เค็ม, ไส้ถั่วดำ ไส้งาดำ ไส้ชาเขียว และไส้รวมรส

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ขนมเต้าส้อจาก “ร้านเจ๊ดา” ได้รับความนิยมจนช่วงหลังมีร้านอื่นๆ หันมาผลิต “เต้าส้อ” ในสูตรคล้ายคลึงกัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ร้านแห่งนี้มีลูกค้าลดน้อยลง ในทางกลับกันต้องขยายเพิ่มเป็น 2 สาขา พร้อมกับปรับโฉมร้านที่สาขา 1 ให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เนื่องจากความได้เปรียบในตัวของจุดจำหน่ายที่ตั้งอยู่บนถนนสายหลักในการเดินทางไปยังจ.กระบี่ พังงา ภูเก็ต รวมทั้งยังเป็นจุดที่รถทัวร์ต้องจอดแวะรับผู้โดยสารด้วย

ปัจจุบันผู้ประกอบรายนี้ มียอดการผลิต “เต้าส้อ” วันละ 400 กล่อง ขณะเดียวกันน่าสนใจอย่างยิ่งว่า เพียง 2 ปี นับจากปี 2553 สินค้าจาก “ร้านเจ๊ดา” ก็มีจุดวางจำหน่ายสินค้ากระจายอยู่ทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ รวมถึงที่ จ.นครราชสีมา จ.นครสวรรค์ และจ.พิษณุโลก พร้อมทั้งกำลังขยายเพิ่มไปในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดอื่นทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเติม ในปี 2556 โดยมุ่งเน้นร้านของฝาก ร้านอาหาร และจุดพักรถ ด้วยกลยุทธ์ใหม่ที่ให้เซลส์เป็นผู้ออกไปขยายด้านการตลาด ขณะที่เจ้าของมีภาระเฉพาะด้านการผลิดเท่านั้น

ดรุณี ดำคง เจ้าของ “ร้านเจ๊ดา” กล่าวว่า ในยุคที่การแข่งขันเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งจากผู้ผลิต “เต้าส้อ” และจากผู้ผลิตขนมอื่นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งในด้านดีก็คือการมีโอกาสขยายสินค้าออกไปได้ง่ายขึ้น สำหรับ 2 ประเทศที่มีกำลังซื้อสูง คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ เพราะประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางอาหารโลก เพียงแต่ในช่วง 2 ปีนี้ จะต้องรีบเร่งเตรียมความพร้อม ซึ่งเบื้องต้นได้ไปเข้าร่วมโครงการ กับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรังเรียบร้อยแล้ว ในการที่จะหาทางพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพในระดับที่สูงขึ้น

สำหรับปัญหาหลักของการทำธุรกิจขนมในขณะนี้อยู่ที่ต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก นับตั้งแต่แป้ง น้ำตาล ไข่ไก่ ไปจนถึงกล่องบรรจุภัณฑ์ แม้แนวทางแก้ที่ดีที่สุดก็คือ การรวมตัวเป็นกลุ่ม หรือชมรมของเหล่าร้านค้าด้วยกัน  เพื่อกำหนดทิศทางในการผลิตและขายสินค้า เนื่องจากการที่พึ่งพารัฐบาลคงเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการก็ยังไม่มีความแข็งแกร่งมากพอ ในท้ายที่สุดจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องไปปรับลดต้นทุนลง ภายใต้แนวทางไม่เลือกใช้วิธีการขึ้นราคาสินค้า

“ในส่วนของทางร้านนอกจากจะผลิต “เต้าส้อ” ให้มีไส้ที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งมีการพัฒนารูปลักษณ์สินค้า หรือบรรจุภัณฑ์สินค้าแล้ว ก็ยังมีการผลิตขนมอื่นๆ เช่น เค้กเมืองตรัง เค้กฝอยทอง เค้กผลไม้รวมพิเศษ ขนมจีบ และเบเกอรี่ เนื่องจากเห็นว่าตลาดขนมยังขยายตัวไปได้ไม่จำกัด  หากสามารถทำสินค้าให้มีจุดเด่น ก็ย่อมจะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคอย่างแน่นอน” ดรุณี กล่าว

 

       นี่จึงเป็นภาพของเส้นทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบรายนี้ที่ไม่ได้จำกัดการทำตลาดอยู่เพียงท้องถิ่น แต่เป็นการเปิดโอกาสและจังหวะในการที่จะสร้างเครือข่ายควบคู่กันไปด้วย

 

 

——————–

(‘รัดเข็มขัด-ขยายเครือข่าย’ สูตรความสำเร็จขนมท้องถิ่น ‘เต้าส้อเจ๊ดา’ : โดย…เมธี เมืองแก้ว)

 

Leave a comment